ฉลองครบรอบ 100 ปี ฮาจิโกะกับ 10 เรื่องราวเกี่ยวกับฮาจิโกะ (ตอนที่ 1)

Tokyo Culture Shibuya 2023.11.13
รวบรวมหลากเรื่องราวของ “ฮาจิสุนัขยอดกตัญญู” หรือชื่อเล่นที่คนญี่ปุ่นนิยมเรียกกันว่า “ฮาจิโกะ” ที่ทั้งซึ้งทั้งเศร้า แต่ก็อบอุ่นหัวใจ
  • รูปปั้นฮาจิโกะมีชื่อเสียงในฐานะจุดนัดพบยอดนิยมของคนญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีมือถือใช้กันแพร่หลาย และปัจจุบันก็ยังเป็นจุดท่องเที่ยวที่ใคร ๆ ก็ต่างมาเช็คอิน 

    เนื่องในโอกาสที่เดือนพฤศจิกายนปี 2023 เป็นช่วงของการฉลองครบรอบอายุ 100 ปีของฮาจิโกะ ทางเพจเจแปนคุรุเลยขอรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับฮาจิโกะยอดสุนัขผู้ซื่อสัตย์ผู้โด่งดังให้ได้อ่านกันค่ะ
1.ประวัติของฮาจิโกะ
ลูกสุนัขตัวหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1923 ที่จังหวัดอากิตะ 
เมื่ออายุได้ประมาณ 50 วันก็ได้ย้ายมาอยู่ที่โตเกียวกับศาสตราจารย์อุเอโนะ ฮิเดซาบุโร (上野英三郎) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโตเกียว (Tokyo Imperial University) ศ.อุเอโนะตั้งชื่อให้ลูกสุนัขตัวนั้นว่า ฮาจิ (ハチ) และเลี้ยงดูด้วยความรักชนิดที่ว่ากินข้าวพร้อม ๆ กันเลยทีเดียว

ฮาจิเติบโตขึ้นท่ามกลางความรักความเอาใจใส่ของผู้เป็นเจ้านายและเริ่มออกเดินทางไปรับส่งศ.อุเอโนะไปทำงานทุกวัน ทว่าในปี 1925 ศาสตราจารย์อุเอโนะก็ได้เสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยภาวะเลือดออกในสมองในที่ทำงาน รวมเวลาที่ทั้ง 2 ได้อยู่ด้วยกันเพียงประมาณ 1 ปี 4 เดือน
หลังจากศาสตราจารย์อุเอโนะเสียชีวิต ภรรยาของศาสตราจารย์ก็ได้ย้ายออกจากบ้านเดิมซึ่งอยู่ห่างจากสถานีชิบูย่าประมาณเดิน 5 นาทีไปอยู่ในที่ที่ไกลออกไปโดยพาฮาจิไปด้วยกัน แต่ทว่าเมื่อภรรยาทราบว่าฮาจิยังคงเดินทางออกไปรับสามีถึงสถานีรถไฟชิบูย่าเหมือนเช่นเคยทุกวัน เธอจึงตัดสินใจนำฮาจิไปฝากไว้กับคนที่อาศัยอยู่ใกล้ชิบูย่าแทน 

ไม่ว่าจะเป็นวันที่ฝนตก แดดออก ลมแรง หรือมีหิมะตกฮาจิก็จะไปรอรับที่เจ้านายที่หน้าสถานีชิบูย่าตอน 9 โมงเช้า และตอน 4 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาออกและกลับจากทำงานของศ.อุเอโนะทุกวัน ๆ

แม้ภายหลังฮาจิโกะจะโด่งดังในฐานะ “ฮาจิโกะยอดสุนัขผู้ซื่อสัตย์ (忠犬ハチ公) ” จนถูกเชิญไปต่างประเทศหรือได้แสดงหนัง ทั้งยังเป็นที่รักของผู้คนจำนวนมากขนาดมีรูปปั้นเป็นของตัวเอง แต่จุดจบของมันค่อนข้างน่าเศร้าและเดียวดาย
หลังจากก็รอคอยเจ้านายอย่างยาวนานหลายปี ในวันที่ 8 มีนาคม 1935 ฮาจิโกะในวัย 11 ปีจากโลกนี้ไปในอย่างเงียบงันตามลำพังบริเวณใกล้กับสถานีชิบูย่า จากการผ่าชันสูตรพบว่าฮาจิโกะเสียชีวิตด้วยการติดพยาธิหนอนหัวใจและโรคต่าง ๆ อีกหลายโรค ทั้งยังพบสิ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นไม้ไก่ย่างอีกประมาณ 3 - 4 ไม้ในกระเพาะอาหารอีกด้วย 

เหล่าผู้คนที่ทราบถึงการจากไปของฮาจิโกะก็ได้พากันมาแสดงความอาลัยและวางดอกไม้ที่รูปปั้นฮาจิโกะกันเป็นจำนวนมาก
2.น้องไม่ใช่หมาพันธุ์ชิบะ แต่เป็นหมาพันธุ์อาคิตะ
รูปปั้นฮาจิโกะทำให้หลาย ๆ คนติดภาพจำว่าฮาจิโกะเป็นหมาตัวเล็ก ๆ อีกทั้งด้วยลักษณะที่เป็นหมาญี่ปุ่นหางม้วนซึ่งคล้ายกับหมาชิบะก็ยิ่งชวนให้เข้าใจผิดว่าน่าจะเป็นตัวประมาณหมาชิบะ แต่จริง ๆ แล้วฮาจิโกะเป็นหมาอาคิตะสีขาวออกเหลืองอ่อน ๆ และเป็นหมาไซซ์ใหญ่ 

แม้ว่ามองเผิน ๆ 2 สายพันธุ์นี้จะดูคล้ายกันมาก แต่ข้อแตกต่างที่สังเกตได้ชัดที่สุดก็คือขนาดตัว หมาชิบะเป็นหมาไซซ์เล็ก ตัวผู้สูงเฉลี่ยประมาณ 35 - 43 ซม. ส่วนหมาอาคิตะเป็นหมาไซซ์ใหญ่ ตัวผู้สูงเฉลี่ยประมาณ 64 - 70 ซม. 

หมาอาคิตะมีลักษณะนิสัยที่เป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์คือรักและซื่อสัตย์กับเจ้าของมาก ๆ จนทำให้ใครหลายคนที่ได้ลองเลี้ยงต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคงเปลี่ยนไปเลี้ยงหมาพันธุ์อื่นไม่ได้แล้ว
3.ทำไมฮาจิหูพับข้างหนึ่ง
หากสังเกตรูปปั้นของฮาจิโกะดูดี ๆ จะเห็นว่าหูซ้ายของฮาจิโกะพับลง ซึ่งตามปกติแล้วหมาพันธุ์อาคิตะจะมีหูตั้งตรงทั้ง 2 ข้าง ซึ่งแน่นอนว่าฮาจิโกะซึ่งเป็นหมาอาคิตะสายพันธุ์แท้ก็เกิดมาพร้อมหูที่ตั้งตรงเช่นกัน

ว่ากันว่าสาเหตุที่หูพับไปข้างหนึ่งเกิดจากการกัดกับหมาจรจัดตัวอื่นตอนที่มารอเจ้านายกลับบ้าน ซึ่งเรื่องนี้ก็กลายมาเป็นอีกจุดที่ประทับใจคนมาก เพราะแม้จะมีอุปสรรคทั้งสภาพอากาศ เหล่าผู้คนที่ไม่ชอบให้มีหมามาป้วนเปี้ยนหน้าสถานีรถไฟ ไปจนถึงหมาตัวอื่นที่เข้ามามีเรื่องด้วย แต่ฮาจิโกะก็ไม่เคยย่อท้อ ยังคงมารอรับผู้เป็นเจ้านายอยู่เช่นเดิมไม่เคยขาด
4.รูปปั้นฮาจิโกะไม่ได้มีแค่ที่หน้าสถานีรถไฟชิบูย่า
ด้วยความรักของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อฮาจิโกะ ทำให้มีการสร้างรูปปั้นเอาไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับฮาจิโกะ

โตเกียว
 -หน้าสถานีรถไฟชิบูย่า (忠犬ハチ公像)
 -หน้าคณะเกษตรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโตเกียว (上野英三郎博士とハチ公)

เมืองโอดาเตะ จังหวัดอาคิตะ (บ้านเกิดของฮาจิโกะ)
 -หน้าสถานีรถไฟโอดาเตะ (忠犬ハチ公像)
 -หน้าศูนย์บริการการท่องเที่ยวเมืองโอดาเตะ อาคิตะอินุ โนะ ซาโตะ (大館市観光交流施設 秋田犬の里) 

เมือง Tsu จังหวัดมิเอะ (บ้านเกิดของศ.อุเอโนะ)
 -ใกล้สถานีฮิไซ (久居駅) 
  • นอกจากรูปปั้นอย่างเป็นทางการแล้ว ในละแวกชิบูย่าก็ยังมีรูปปั้นฮาจิโกะแนวน่ารัก ๆ อยู่อีกหลายตัวอย่างเช่นฮาจิโกะปลิวลมที่หน้าทาวเวอร์เรคคอร์ด สาขาชิบูย่าหรือที่หน้าเมกก้า ดองกี้โฮเต้ สาขาชิบูย่า สมเป็นดาวเด่นแห่งย่านนี้จริง ๆ
5.จริง ๆ แล้วศ.อุเอโนะไม่ได้ขึ้นลงรถไฟที่ชิบูย่าทุกวัน
ที่จริงแล้วจุดที่ฮาจิไปรับส่งศ.อุเอโนะทุกวันสมัยศ.ยังมีชีวิตอยู่ไม่ใช่ที่สถานีชิบูย่า แต่เป็นที่โคมาบะ (駒場) ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยโตเกียว ทว่าด้วยหน้าที่การงานของศ.ทำให้เขามักต้องเดินทางออกไปทำงานที่ต่างจังหวัดอยู่บ่อยครั้ง และหลาย ๆ ครั้งก็มักจะออกเดินทางจากสถานีชิบูย่านั่นเอง 

จากจุดนี้ทำให้คนคาดเดาว่า ฮาจิที่ไม่รู้ว่าเจ้านายได้จากโลกนี้ไปแล้วน่าจะคิดไปว่าที่ศ.ไม่กลับบ้านติดกันหลาย ๆ วันก็เป็นเพราะไปทำงานที่อื่นไกล ๆ เฉย ๆ ถ้าไปรอที่หน้าสถานีชิบูย่าเหมือนตอนที่เดินทางไปทำงานต่างจังหวัด ก็จะได้เจอกับเจ้าของที่กลับมาในสักวัน
เรื่องราวของฮาจิโกะยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ พบกับอีก 5 เรื่องราวได้ในบทความตอนที่ 2 เลยค่ะ

ติดตามเรื่องราว ข้อมูล และข่าวสารส่งตรงจากญี่ปุ่นกับ Japankuru ได้ทาง X (Twitter) และ Facebook!
Comment
POST
Related Article
ถาม-ตอบ
  • PARTNERS