จัดของเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ

Nationwide Culture กระเป๋าฉุกเฉิน 2020.05.27
ญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีแผ่นดินไหวบ่อยอยู่แล้ว และยิ่งเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2020 เกิดเหตุแผ่นดินไหวมาถึง 2 วันติด ทำให้หลายคนอาจเริ่มเป็นกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่ จึงออกมาตรวจเช็คกระเป๋าฉุกเฉินที่มีอยู่ในบ้านกัน จึงเป็นโอกาสดีที่จะมาเปิดกระเป๋าให้ทุกคนดูกันค่ะ
คนญี่ปุ่นทุกคนถูกปลูกฝังเรื่องการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติมาตั้งแต่เล็กๆ มีการฝึกซ้อมหนีไฟ ซ้อมอพยพกันเป็นประจำทุกปี ทั้งในโรงเรียน ห้างสรรพสินค้า หรือที่ทำงาน และเห็นความสำคัญถึงการเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติ

สำหรับตัวเราเองแม้จะมาอยู่ญี่ปุ่นได้ไม่นาน แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากการเตรียมตัวของชาวญี่ปุ่นคือ การเตรียมความพร้อม เมื่อตอนเป็นนักเรียน(โรงเรียนภาษา) แทบจะทุกเทอมจะมีการซ้อมหนีไฟ สอนวิธีการเตรียมความพร้อม ให้จำเบอร์โทรศัพท์ของรถพยาบาล และสถานีดับเพลิง(119) ตำรวจ (110) หรือแม้แต่ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ของเราเองเป็นภาษาญี่ปุ่น เพราะถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินจริง อย่างน้อยจะได้แจ้งเจ้าหน้าที่ได้ รวมถึงกระเป๋าฉุกเฉินที่มีเตรียมไว้แทบทุกบ้าน

มาดูกันว่าเราได้เตรียมอะไรไว้บ้าง (อาจจะไม่ครบทุกอย่าง เพราะถ้าทุกอย่างตามลิสต์รวมๆแล้วหลายหมื่นเลย) แต่ละคนเตรียมไม่เหมือนกัน เน้นตามความสะดวก และความจำเป็นของแต่ละคน
1.กระเป๋า
จริงๆแล้วสามารถซื้อชุดกระเป๋าฉุกเฉินได้เลย แต่เรามีกระเป๋าที่ไม่ได้ใช้อยู่แล้วเลยเอามาใช้เป็นกระเป๋าฉุกเฉิน เราเลือกใบที่มีสีสันสดใส จะได้มองเห็นได้ง่าย เป็นแบบเป้สะพายหลัง สะดวกต่อการเดิน 
เซ็ตกระเป๋าสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน 
2.ไฟฉาย
เรามีไฟฉายหลายขนาด ทั้งเล็กและใหญ่ ชาร์ตไฟบ้าน ใส่ถ่าน หรือแม้กระทั่งมือหมุน มีหลายแบบไว้อุ่นใจ
ที่ชอบมากคือไฟฉายที่เป็นวิทยุในตัว และสามารถเป็นพาวเวอร์แบงค์ได้อีก จะชาร์ตไฟบ้าน ใส่ถ่าน หรือหมุนเก็บพลังงานไว้ก็ได้ เพราะหากเกิดภัยพิบัติที่ค่อนข้างรุนแรง ไฟจะดับ ไม่มีไฟฟ้าใช้ วิทยุก็จำเป็นที่จะใช้รับฟังข่าวสาร ไฟก็ต้องใช้ หรือถ้าออกไปไหนไม่ได้ ต้องการเรียกคนมาช่วยก็มีโหมดส่งสัญญาณขอความช่วยเหลืออีก ซื้อมาในราคาประมาณ 3000 เยน คุ้มสุดๆ 
3.ถุงมือ
หากต้องอพยพ บ้านเรือนเสียหาย ไฟไหม้ จะต้องฝ่าออกไปจากบ้าน ถุงมือก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะลดการบาดเจ็บของเราได้ จะเป็นถุงมือผ้าสีขาวธรรมดา หรือถุงมือที่สามารถกันน้ำ กันความร้อนได้แบบในภาพก็ได้
4.เอกสารสำคัญ
พาสปอร์ต เอกสารการเปลี่ยนชื่อ ใบจบการศึกษา ทะเบียนสมรส สมุดบัญชีธนาคาร ตราประทับ ฯลฯ เพื่อความชัวร์ถ่ายเอกสารไว้เผื่อ 1 ชุด ทั้งของตัวเองและคนในครอบครัว
5.เสื้อผ้า
เราเตรียมไว้ทั้งเสื้อแขนยาว และแขนสั้น เพราะญี่ปุ่นหน้าหนาวก็หนาวมาก หน้าร้อนก็ร้อนมากเช่นกัน กางเกงใน ชุดชั้นใน ถุงเท้า เราเตรียมไว้อย่างละ 2 ชุด 
6.ยารักษาโรค
ยาสามัญประจำบ้าน จำพวกยาแก้ปวด แก้แพ้ แก้ปวดท้อง และยาประจำตัว และอย่าลืมหมั่นตรวจเช็คทุกๆครึ่งปี-หนึ่งปี
เราใส่เจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือไว้ด้วยเผื่อไม่มีน้ำใช้ล้างมือ รวมถึงถุงอุ่น แก้หนาวในฤดูหนาวและใช้แก้ปวดท้องประจำเดือนได้
7.แผ่นอลูมิเนียมกันหนาว
อย่างที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเมื่อเข้าฤดูหนาว ก็จะมีอากาศที่หนาวจัด ต้องเปิดฮีทเตอร์ ใส่เสื้อผ้าหนาๆให้ร่างกายอบอุ่น แต่ถ้าหากไม่มีฮีทเตอร์ก็ต้องใช้แผ่นอลูมิเนียมตัวนี้ช่วยกันหนาวได้
8.มีด ค้อน
เราซื้อมาเป็นมีดพับที่มีค้อนด้านบน เพราะหากเกิดแผ่นดินไหว แล้วเราติดอยู่ในบ้านออกไปข้างนอกไม่ได้ ประตูก็เปิดไม่ได้ ก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่แข็งแรงพอที่จะใช้ทุบกระจกให้แตกได้ รวมถึงมีด และกรรไกรต่างๆ
 
9.ห้องน้ำ
ห้องน้ำฉุกเฉิน จะเป็นถุงพลาสติกที่มีผงช่วยดับกลิ่น ให้ไม่มีกลิ่นออกหลังขับถ่าย เพราะถ้าน้ำไม่ไหล กดชักโครกไม่ได้ ก็เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน 
10.น้ำ
บ้านในญี่ปุ่นปัจจุบันจะมีอ่างอาบน้ำอยู่แล้วสามารถรองน้ำเก็บไว้ใช้ได้ แต่บ้านที่เป็นแบบโบราณหน่อยอาจจะไม่มีห้องอาบน้ำในบ้าน การที่จะมีถังไว้เก็บน้ำก็จำเป็นอย่างมาก แม้บ้านของเราจะมีอ่างอาบน้ำ ก็ซื้อที่เก็บน้ำเอาไว้ 10 ลิตร เผื่อต้องใช้ล้างหน้าแปรงฟัน หรือดื่ม หากน้ำที่มีไว้หมด รวมถึงน้ำดื่มอีก 2-3 ลิตร/คน/วัน
นอกจากนี้ยังมีของใช้จำเป็นส่วนตัว อย่างครีมบำรุงผิว ปากกา สมุดจด ถ่านสำรอง รวมถึงอาหารแห้งและน้ำดื่มที่สามารถเก็บได้ 5-7 ปี (ส่วนตัวไม่ได้ซื้อมาเพราะเรามีการเช็คกระเป๋าทุกปีอยู่แล้ว จึงสามารถใส่อาหารแห้งแบบปกติเข้าไปแทนได้) 

สำหรับคนไทยการเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินอาจรู้สึกเป็นรื่องไกลตัว แต่เตรียมไว้ก็ไม่เสียหาย เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าภัยพิบัติจะมาถึงเราเมื่อไร
นกหวีด ไว้เป่าขอความช่วยเหลือ
อาหารแห้งเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติ สามารถเก็บได้นาน
หากเกิดเหตุการภัยพิบัติขณะมาเที่ยวที่ญี่ปุ่น สามารถติดตามข่าวสารได้ที่

กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น
https://www.data.jma.go.jp/multi/index.html?lang=th

การท่องเที่ยวญี่ปุ่น
https://www.jnto.go.jp/safety-tips/eng/

สำนักข่าว NHK 
https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/th/

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
http://site.thaiembassy.jp/th/
Comment
POST
Related Article
ถาม-ตอบ
  • PARTNERS