เติมพลังให้กับมื้อเช้าด้วย "ราเม็ง"

Tohoku Food ราเมน 2021.01.12
การรับประทานราเม็งในตอนเช้าเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของคนในจังหวัดฟุกุชิมะ

กินราเม็งแต่เช้าเลยหรอ?

ไม่ใช่แค่เพียงบรรดานักศึกษาเท่านั้นที่ต้องการเพิ่มพลังในตอนเช้าด้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะเราได้เจอร้านราเม็งใกล้ที่พักของเราในโตเกียวอยู่ร้านหนึ่ง ที่เปิดตั้งแต่ 7 โมเช้า เราจึงไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่นั่นมา

การกินราเม็งเป็นอาหารเช้านั้นเป็นวัฒนธรรมของภูมิภาคหนึ่งในญี่ปุ่น

ดูเหมือนว่า การรับประทานราเม็งเป็นอาหารเช้านั้นจะเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของเมืองหนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่งร้านใกล้ที่พักเรานั้นก็สืบทอดวัฒนธรรมนั้นมาจากเมืองคิตะคะตะ จังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งทีม Japankuru ก็เคยได้แวะไปชิมราเม็งที่ดังที่สุดในคิตะคะตะมาแล้ว ตอนที่เราไปในแถบไอซุ ซึ่งที่คิตะคะตะนั้นมีร้านราเม็งเยอะมากๆ ส่วนทฤษฎีที่ว่าทำไมถึงเปิดแต่เช้าตรู่ ก็น่าจะเป็นการเปิดเพื่อให้สอดคล้องกับเวลาการทำงานของคนที่ทำงานในโรงงานอลูมิเนียม หรือเกษตรกรที่ทำงานแต่เช้ามืด หรือคนที่มีอาชีพกลางคืน ซึ่งเหตุผลก็น่าจะมาจากหลายๆอย่างนี้ 

ตอนที่เราได้ไปร้านราเม็งในคิตะคะตะ เป็นช่วงมื้อกลางวัน ซึ่งพวกเราไม่รู้เลยว่าเขาเปิดร้านมาได้ครึ่งวันแล้ว!

มันทำให้เราต้องกลับไปซ้ำอีกรอบ เราไปถึงร้านแต่เช้าหลังร้านเปิดไม่นาน ประมาณ 7 โมงครึ่งราเม็งร้อนๆ ก็มาเสริฟที่โต๊ะแล้ว! ราเม็งคิตะคะตะ โดดเด่นที่ความหอมและเข้มข้นของน้ำซุปกระดูกหมู น้ำใส ซดคล่องคอ ไม่เหมือนกับทงคตสึราเม็ง (ซุปกระดูกหมู) ทั่วไปที่น้ำจะข้นๆ  ส่วนเส้นก็จะมีขนาดใหญ่กว่าเส้นราเม็งปกติ (คล้ายเส้นใหญ่ของไทย) ทำให้ได้สัมผัสกับรสชาติได้เต็มคำ และยังมีหมูชาชู เพิ่มโปรตีนให้กับมื้อเช้า พร้อมที่จะเริ่มต้นวันใหม่!
บนโต๊ะในร้านราเม็งคิตะคะตะ จะมีเครื่องปรุงอยู่นิดหน่อย เช่น น้ำส้มสายชู กรดของน้ำส้มสายชูมักนำมาตัดเลี่ยนให้อาหาร แต่สำหรับราเม็งสไตล์คิตะคะตะนั้นไม่ค่อยมัน การใส่น้ำส้มสายชูลงไปก็ทำให้ได้รสชาติที่อร่อยและเข้มข้นขึ้น

สำหรับคนไทยแล้วการกินราเม็งในตอนเช้าอาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเรากินข้าวแกง กินก๋วยเตี๋ยว หรือแม้แต่อาหารหนักๆเป็นมื้อเช้ากันอยู่แล้ว แต่หลายประเทศมักนิยมรับประทานอาหารเช้าที่เบาท้อง เช่น ซีเรียลกับนม หรือผลไม้ การรับประทานราเม็งที่เต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโซเดียมจึงไม่เป็นที่นิยมนัก แต่สำหรับราเม็งคิตะคะตะ มีรสชาติที่อ่อนกว่าราเม็งทั่วไป ไม่มัน ไม่ข้น จึงเหมาะกับการเป็นอาหารเช้า 

เราจะหาราเม็งตอนเช้ากินได้ที่ไหนอีกบ้าง

ที่มารูปภาพ: Mainichi Shinbun (Marunaka Ramen)

อีกหนึ่งแห่งที่เราสามารถกินราเม็งตอนเช้าได้ก็คือที่ เขตชิดะ (Shida District) ในจังหวัดชิซุโอกะ ต้นกำเนิดของการกินราเม็งในตอนเช้าที่ชิซุโอกะนั้นมาจาก การที่จ.ชิซุโอกะเป็นแหล่งผลิจชาเขียวอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น และการเก็บเกี่ยวนั้นต้องเก็บก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้น ร้าน Marunaka ในเมือง Fujieda จึงเกิดไอเดียเปิดร้านขึ้นในตอนเช้าเมื่อปี 1919 เพื่อที่จะดึงดูดเกษตรกรจากไร่ชาที่เลิกงานตอนเช้า ราเม็งชิดะ จะทำมาจากซอสโชยุ และที่ร้าน Marunaka สามารถเลือกได้ว่าจะรับประทานแบบเย็นหรือร้อน หรือไม่จะสั่งเป็นชุดทั้งสองแบบเลยก็ได้เช่นกัน 
แต่ถ้าไม่ได้อยู่ที่คิตะคะตะ หรือชิดะ ก็มีร้านราเม็งที่เปิดแต่เช้าเหมือนกัน นั่นก็คือ อิจิรันราเม็งหรือราเม็งข้อสอบนั่นเอง! เป็นร้านราเม็งจากจังหวัดฟุกุโอกะ ที่เสริฟทงคตสึราเม็ง (ราเม็งซุปกระดูกหมู) ไม่เหมือนกับที่คิตะคะตะ แต่จะเป็นแบบเข้มข้น และยังเปิด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

ติดตามเรื่องราวจากญี่ปุ่นกับ Japankuru ได้ทาง Facebook และ Twitter
Comment
POST
Related Article
ถาม-ตอบ
  • PARTNERS