[ปลาโจบัง-โมโน คืออะไรกันนะ?] พาร์ท 6 จะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารมีการปนเปื้อน? ระบบการตรวจสอบสารกัมมันตภาพรังสีในฟุกุชิมะ

Tohoku Tour โจบังโมโน 2020.12.24
ชาวประมงและธุรกิจประมงของจังหวัดฟุกุชิมะ มีการตรวจสอบตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดและมากกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้อีกด้วย
ฟื้นธุรกิจประมงหลังแผ่นดินไหว
  • ทะเลสาบมัตสึคาวาอุระ เมืองโซมะ จังหวัดฟุกุชิมะ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวโทโฮคุ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 ตามมาด้วยภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เป็นเหตุการณ์ช็อคโลก ที่แม้กระทั่งในปัจจุบันยังเป็นบาดแผลลึกอยู่ในใจของหลายคน ภัยพิบัตินิวเคลียร์นั้นได้ทำลายฟาร์ม ไร่ สวน การประมง และอุตสาหกรรมอาหารของฟุกุชิมะ ไม่ว่าเมื่อก่อนโจบังโมโนจะเคยมีชื่อเสียงขนาดไหน หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็ทำให้ได้รับผลกระทบโดยตรง ก่อนหน้านี้ทีม Japankuru ได้เขียนบทความเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมประมงในฟุกุชิมะ โดยเฉพาะเมืองอิวากิและเมืองโซมะ ในพาร์ทที่ 3 และ 4 ของซีรี่ยส์โจบังโมโน ที่ คุณ Mitsunori Suzuki รองประธานสมาคมสหกรณ์การประมงอิวากิ และคุณ Kanji Tachiya ประธานสมาคมสหกรณ์ประมงโซมะฟุตาบะ ได้อธิบายถึงความมั่นใจที่พวกเขามีต่อโจบังโมโน แม้จะต้องเผชิญกับความเสียหายหลังเกิดภัยพิบัติในปี 2011 

บริเวณชิโอเมะที่อยู่นอกชายฝั่งโจบัง (ตั้งแต่ชายฝั่งฟุกุชิมะยาวไปถึงอิบารากิ) เป็นจุดที่กระแสน้ำเย็นโอยาชิโอะและกระแสน้ำอุ่นคุโรชิโอะได้บรรจบกัน ซึ่งบางครั้งมีการเรียกบริเวณนี้ว่า ทะเลชิโอเมะ (潮目の海 ชิโอเมะ โนะ อุมิ) นอกจากจะสามารถจับปลาได้แล้ว บริเวณนี้ยังทำให้แพลงก์ตอนเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งกลายเป็นอาหารที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของปลา และเป็นแหล่งทำการประมงที่มีคุณภาพ ปลาที่จับได้จากชายฝั่งโจบัง จะตัวอวบอ้วน มัน และรสชาติดี เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของเหล่าชาวประมงในฟุกุชิมะ อย่างไรก็ตามไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุกาณ์ที่ส่งผลต่อชีวิตของชาวประมงในท้องถิ่น เพราะสึนามิและแผ่นดินไหว ไม่เพียงแต่จะพลัดพรากคนที่รักและบ้านเรือนของพวกเขาไป แต่ข่าวลือเรื่องรังสีนั้นก็ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงเข้าอย่างจัง แม้เหตุการณ์จะเป็นอย่างนั้น ชาวประมงก็ยังคงมุ่งมั่น กำหนดนโยบายใหม่ ร่วมมือกับรัฐบาลจังหวัดฟุกุชิมะ เพื่อให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมาอีกครั้ง ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พวกเขาก็ได้จัดตั้งปฏิบัติการทดสอบใหม่ ทำงานแบบช้าแต่ชัวร์ เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการประมงพื้นบ้าน
ปฏิบัติการทดสอบ คืออะไร?
  • ปลาที่จับได้สดใหม่ทุกวัน
การประมงบริเวณชายฝั่งของฟุกุชิมะและอุตสาหกรรมประมงอวนลากนอกชายฝั่ง ต้องหยุดออกหาปลาการหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติอย่างไม่มีทางเลือก ตอนนี้เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว หลังจากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้น แต่ก็ยังมีการตรวจสอบหารังสีและเฝ้าระวังสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล กว่า 60,000 ครั้ง ปลาและสัตว์ทะเลที่จับขึ้นมาได้ และได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยสำหรับการบริโภค ตามมาตรฐานความปลอดภัยแห่งชาติที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนด ในทางกลับกัน ข้อจำกัดต่างๆนั้นค่อยๆได้รับการผ่อนคลายทีละนิด โดยอนุญาตให้อุตสาหกรรมประมงขนาดเล็กและผู้ขายอาหารทะเล สามารถกลับมาทำงานได้ในระดับเล็กๆ (เฉพาะสายพันธุ์ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยเกินมาตรฐาน) และมีการจับตาดูปฏิกิริยาของตลาดตลอดเวลา กระบวนการและนโยบายการตรวจสอบนี้ คือ”การปฏิบัติการทดสอบ” ของจังหวัดฟุกุชิมะ และจากข้อมูลที่ได้เผยแพร่โดยสำนักงานจังหวัดฟุกุชิมะ วันที่ 26 มีนาคม 2020 ได้ยืนยันว่า ปลาและอาหารทะเล 231 ชนิด มีความปลอดภัย

"monitoring test" หมายถึง การตรวจสอบรังสี ตามมาตรฐานของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่า ไม่มีปัญหาในการขนส่งปลาหรืออาหารทะเลที่ตรงตามมาตรฐาน เพื่อออกสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม เมืองโซมะ เมืองอิวากิ และการประมงของจังหวัดฟุกุชิมะ ได้ทำการทดสอบรังสีเพิ่มเติมเองทุกวัน เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจมากขึ้นในเรื่องของความปลอดภัย ทำให้ปลาและอาหารทะเลจากที่นี่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงกว่าที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดไว้ การทดสอบเพิ่มเติมนี้เรียกว่า "screening test" ซึ่งชาวฟุกุชิมะต้องการให้คนภายนอกได้รับรู้ว่า กว่าที่โจบังโมโนจะออกสู่ตลาดได้นั้น ต้องผ่านขั้นตอนทดสอบความปลอดภัยทั้งสองอย่าง
การตรวจสอบเพื่อรับประกันความปลอดภัย
  • ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรฟุกุชิมะ โคริยามะ จังหวัดฟุกุชิมะ
ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรฟุกุชิมะมีบทบาทสำคัญในการประกันความปลอดภัยของอุตสาหกรรมการเกษตร การป่าไม้ และการประมงของฟุกุชิมะ โดยทำการตรวจสอบรังสีในสินค้าทางการเกษตรและอาหารทะเลของจังหวัด อาจเรียกที่แห่งนี้ได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมต่างๆในฟุกุชิมะเลยก็ว่าได้ เพราะโจบังโมโนเป็นหนึ่งในสินค้าท้องถิ่นที่มีการทดสอบที่นี่ และมีการกำหนดว่าปลาชนิดใดปลอดภัยที่สามารถจับได้ หรือชนิดใดที่ต้องปล่อยไป
  • แผนกวิเคราะห์รังสี ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรฟุกุชิมะ - ตารางการทดสอบรังสีและติดตามผล
การวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรฟุกุชิมะ อยู่ในเมืองโคริยามะ ซึ่งทำการทดสอบและติดตามสินค้าทางการเกษตรและอาหารทะเลของจังหวัดฟุกุชิมะเป็นรอบๆ มีทั้ง ผัก ผลไม้ อาหารทะเล พืชป่าที่กินได้ เห็ด น้ำผึ้ง ธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อ ไข่ และอาหารสัตว์ ทำให้มีหลายรายการที่ต้องรอตรวจสอบ บางครั้งทางศูนย์ต้องส่งผลิตภัณฑ์บางส่วน เช่น อาหารแปรรูปและอาหารสัตว์ ไปยังห้องปฏิบัติการอื่น ที่มีอุปกรณ์ทดสอบ นอกเหนือจากการเผยแพร่การทดสอบให้ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงแล้ว เรายังสามารถดูผลการทดสอบเองได้บนเว็บไซต์ของจังหวัดฟุกุชิมะได้ตลอดเวลา
  • นักวิจัยค่อยๆหั่นปลา เพื่อนำไปทดสอบ
ทีมงาน Japankuru มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมการทดสอบปลาโจบังโมโน และกระบวนการตรวจสอบที่ศูนย์ ก่อนที่เราจะเข้าไปยังแล็บ สตาฟก็ได้ใช้อุปกรณ์พิเศษในการตรวจสอบรังสี รวมทั้งรายละเอียดเล็กๆ เสื้อผ้าหรือเส้นผม ที่อาจส่งผลต่อการทดสอบได้ ในทำนองเดียวกัน เมื่อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารทะเลถูกส่งไปยังศูนย์ ทุกอย่างต้องมีการตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี เมื่อสินค้ามาถึงศูนย์เทคโนโลยีการเกษตร ก็ต้องค่อยๆนำออกจากห่อ ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปใส่ในภาชนะที่ทำขึ้นพิเศษ ชั่งน้ำหนัก จากนั้นจึงนำไปใส่ในเครื่องตรวจจับเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้เจอร์เมเนียมที่มีความแม่นยำสูงเพื่อวัดระดับรังสี จากนั้นนักวิจัยจะวิเคราะห์ผลและนำไปเผยแพร่สู่สาธารณะ
  • ปลาที่หั่นแล้วถูกบรรจุในภาชนะพิเศษ ที่มีการปิดผนึกอย่างดี และมีการติดฉลาก QR code กำกับไว้ ทำให้สามารถติดตามข้อมูลได้จาก QR Code
  • เครื่องตรวจจับสารกึ่งตัวนำที่ใช้เจอร์เมเนียม
ตอนนี้ห้องปฏิบัติการของศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรฟุกุชิมะมีเครื่องตรวจจับสารกึ่งตัวนำที่ใช้เจอร์เมเนี่ยม 11 เครื่อง พร้อมกับนักวิจัยอีก 9 ท่าน ตัวเครื่องได้รับการทดสอบเป็นระยะ โดยสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ เพื่อรักษาความถูกต้องของการทดสอบแต่ละครั้ง ในปี 2017 ห้องปฏิบัติการได้อออกระบบ QR Code ที่จะลงทะเบียนข้อมูลทั้งหมดที่อยู่ในกระบวนการทดสอบ และด้วยมาตรการเหล่านี้ ทำให้ประสิทธิภาพการทดสอบทางรังสีของห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้มีการทดสอบเฉลี่ยประมาณ 150 ครั้งต่อวัน
  • ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2011 เป็นต้นมา มีตัวอย่างที่ตรวจไปแล้วจำนวนกว่า 230,000 ตัวอย่าง
คุณ Hitoshi Kusano หัวหน้านักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรฟุกุชิมะ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารทะเลส่วนใหญ่ที่ทดสอบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัยจากรังสีที่เป็นที่ยอมรับ มาตรฐานความปลอดภัยแห่งชาติ สำหรับอาหารทะเลอยู่ต่ำกว่า 100Bq / kg และดูเหมือนว่าไม่มีตัวอย่างปลาทะเลใดเกินขีดจำกัดดังกล่าว นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2015 เป็นต้นมา เราทุกคนสามารถไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการตรวจสอบที่ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรฟุกุชิมะ และให้ผู้เชี่ยวชาญอธิบายขั้นตอนการทดสอบโดยละเอียดเพื่อดูผลลัพธ์เหล่านี้ได้ด้วยตนเอง (แต่ต้องจองล่วงหน้านะ)
การคัดกรอง (Screening)
ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรฟุกุชิมะเป็นหน่วยงานของรัฐ และการทดสอบการเฝ้าติดตามเกิดจากกฎหมายสุขาภิบาลอาหารของญี่ปุ่น แต่สมาคมสหกรณ์การประมงแห่งฟุกุชิมะ (ซึ่งจัดการอุตสาหกรรมประมงของฟุกุชิมะ) มีแนวทางของตนเองในการรับรองความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทางทะเลและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ในตลาดปลาที่เมืองอิวากิและเมืองโซมะ สหพันธ์จะทำการทดสอบตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในทะเลของตนเองในระบบที่เรียกว่าการตรวจคัดกรอง ทุกๆวันกระบวนการคัดกรองจะรวบรวมตัวอย่างจากปลาและอาหารทะเลทุกชนิดที่จับได้ในเช้าวันนั้นและทำการทดสอบเพื่อความปลอดภัย
  • การเตรียมตัวอย่างปลาเพื่อตรวจคัดกรองที่ห้องทดสอบของตลาดปลาโอนะฮามะ
กฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารของญี่ปุ่น กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับสารกัมมันตรังสีซีเซียมในผลิตภัณฑ์อาหารที่ 100Bq / kg หรือน้อยกว่า แต่การประมงของ Fukushima ยังคงรักษามาตรฐานที่เข้มงวดกว่ามาก เพื่อให้ผู้บริโภคอุ่นใจมากขึ้น โดยอนุญาตเฉพาะปลาและอาหารทะเลให้มีปริมาณสูงสุดอยู่ที่ 50Bq / kg นั่นหมายความว่าไม่มีอาหารทะเลของฟุกุชิมะออกสู่ตลาด ในปริมาณต่ำกว่า 50Bq / kg ซึ่งมีรังสีน้อยกว่าขีดจำกัดด้านความปลอดภัยของรัฐบาลญี่ปุ่น

ที่น่าสนใจก็คือ หากลองเปรียบเทียบมาตรฐานแห่งชาติของญี่ปุ่นที่ระดับ 100Bq / kg กับกฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศอื่น ๆ จะเห็นว่ามันเข้มงวดกว่าประเทศอื่นๆในโลก ตัวอย่างเช่น ขีดจำกัดด้านความปลอดภัยของ Codex Alimentarius (ชุดของมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลซึ่งกำหนดโดย UN และ WHO) คือ 1,000Bq / kg มาตรฐานของสหรัฐอเมริกาคือ 1200Bq / kg และ EU อนุญาตให้ได้ถึง 1250Bq / kg จากข้อมูลดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าชาวประมงของฟุกุชิมะมุ่งเป้าไปที่มาตรฐานที่เข้มงวดอย่างยิ่ง และผลิตภัณฑ์จากทะเลของที่นี่ก็มีความปลอดภัยมาก
  • ห้องปฏิบัติการของตลาดปลาโอนะฮามะ มีเครื่องสำหรับทดสอบตัวอย่าง 9 เครื่อง
ตลาดปลาโอนะฮามะ เมืองอิวากิ และตลาดปลาฮารากามะ เมืองโซมะ มีห้องทดสอบของตนเอง ซึ่งพวกเขาทำการสุ่มตัวอย่างประจำวันและทดสอบปลาแต่ละชนิดที่จับได้ในวันนั้น ห้องทดสอบเหล่านี้มีเครื่องทดสอบไม่มากเท่ากับห้องทดลองของศูนย์เทคโนโลยีการเกษตร แต่เพื่อเพิ่มทั้งความเร็วและความแม่นยำจึงต้องซื้อเครื่องจักรใหม่เป็นระยะ ๆ และซ่อมแซมเครื่องที่เก่า ขณะนี้ตลาดปลาโอนะฮามะมีเครื่องจักรเก้าเครื่องใน เป็นคนละรุ่นกันทั้งหมด เครื่องที่เก่าแก่ที่สุดใช้เวลาประมาณ 40 นาทีในการประมวลผลตัวอย่างทั้งหมด ส่วนเครื่องใหม่สามารถทำงานได้ในเวลาเพียง 5 นาที
 
ในกรณีที่ตัวอย่างมีน้ำหนักเกิน 50Bq / kg จะหยุดขายปลาชนิดนั้นทั้งหมด และตัวอย่างจะถูกส่งไปยังศูนย์วิจัยการประมงและวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อการทดสอบที่แม่นยำและเจาะลึกยิ่งขึ้น หากการทดสอบขั้นที่สองพิสูจน์ได้ว่าตัวอย่างมีน้ำหนักเกิน 50Bq / kg จริง ปลาชนิดนั้นจะถูกเรียกคืนทั้งหมดและห้ามเรือประมงจับปลาชนิดนั้นชั่วคราว ในทางปฏิบัติจริง กรณีของปลาตาเดียวที่จับได้ในอิวากิ เดือนกรกฎาคม 2018 พบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม 59Bq / kg ซึ่งอยู่ในระดับของมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่กำหนดโดยรัฐบาลญี่ปุ่น แต่เนื่องจากมันเกิน 50Bq / kg ระดับมาตรฐานที่กำหนดโดยการประมงเอง การขายปลาตาเดียวก็ต้องหยุดลงเป็นเวลาหนึ่งเดือน หลังจากเหตุการณ์นั้นปลาตาเดียวในพื้นที่ ได้รับการสุ่มตัวอย่างและทดสอบอย่างต่อเนื่อง และการจับปลาตาเดียวจะกลับมาวางขายได้ปกติ ก็ต่อเมื่อตัวอย่างลดลงต่ำกว่า 50Bq / kg อีกครั้ง
  • ห้องทดสอบที่ตลาดปลาโซมะฮารากามะ
ที่ชาวประมงในพื้นที่มีความมั่นใจในปลาที่พวกเขาจับได้นั้น ก็เป็นเพราะมาตรฐานที่เข้มงวด และในขณะที่การคัดกรองดำเนินไปทุกวัน ก็แสดงเห็นได้ชัดว่าชาวประมงของฟุกุชิมะกำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริโภคจะไม่สูญเสียศรัทธาในโจบังโมโนของพวกเขาอีกแล้ว หากมองไปในแต่ละจังหวัดของญี่ปุ่น จะไม่พบจังหวัดอื่นที่มีระบบการทดสอบแบบนี้ และข้อมูลที่พิสูจน์ได้นั้นมันจะทำหน้าที่ของมันเอง คุณ Maeda จากสมาคมสหกรณ์การประมงอวนลากโอนะฮามะได้กล่าวว่า "ไม่ว่าคุณจะใส่ข้อมูลให้พวกเขามากแค่ไหนผู้คน 10% ก็ยังไม่ยอมรับ" พร้อมกับเสริมว่า "แต่เราต้องสู้กับผู้คนอีก 90% ที่ยินดีที่จะรับฟังสิ่งที่เรากำลังพูดออกไป ทุกวันนี้เราพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสื่อสารถึงความตั้งใจของเรา พร้อมกับยังดำเนินการทดสอบอย่างเข้มงวดต่อไปเรื่อยๆ" เขาจบความคิดเห็นโดยกล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้วในปีที่แล้วแทบไม่มีตัวอย่างที่ทดสอบ ที่มีการปนเปื้อนของรังสีที่ตรวจจับได้เลย
ความแตกต่างระหว่างการเฝ้าติดตามและการคัดกรอง
เมื่ออ่านถึงตรงนี้อาจจะยังงงๆว่า "การตรวจสอบ" (monitoring) ของจังหวัดฟุกุชิมะ และ "การคัดกรอง" (screening) ของการประมงแตกต่างกันอย่างไร 

ในจังหวัดฟุกุชิมะมีโครงสร้างการทดสอบรังสี 2 แบบ ได้แก่ การตรวจติดตามการทดสอบ (monitoring testing) ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจังหวัด และการทดสอบคัดกรอง (screening testing) ที่ใช้ตัวอย่างจากการจับในแต่ละวันดำเนินการโดยองค์กรประมง

[ความเหมือน]
กระบวนการทั้งสองจะวัดรังสีสิ่งมีชีวิตในทะเล และตัดสินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทางทะเลโดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยขั้นตอนการทดสอบขั้นพื้นฐานนี้จะเหมือนกัน ทั้งในการเฝ้าติดตาม (monitoring) และการคัดกรอง (screening)

[ความแตกต่าง]
●องค์กร
การเฝ้าติดตาม (monitoring): ดำเนินการโดยจังหวัดฟุกุชิมะ ตามมาตรฐานของรัฐบาลญี่ปุ่น
การคัดกรอง (screening): ดำเนินการโดยสมาคมการประมงที่เป็นอิสระและไม่ใช่ภาครัฐ
●มาตรฐาน
การเฝ้าติดตาม (monitoring): มาตรฐานความปลอดภัยแห่งชาติ (100 Bq / kg) ซึ่งกำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงผู้อยู่อาศัยทุกวัย
การคัดกรอง (screening): กำหนดมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้น (50Bq / kg) เพื่อให้ผู้บริโภคอุ่นใจมากขึ้น
●หน่วยงาน
การเฝ้าติดตาม (monitoring): ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรฟุกุชิมะ
การคัดกรอง (screening): สมาคมสหกรณ์การประมงฟุกุชิมะ (ตลาดปลาโอนะฮะมะ และตลาดปลาโซมะฮารากามะ) 
●ความถี่
การเฝ้าติดตาม (monitoring): สัปดาห์ละสองครั้ง
การคัดกรอง (screening): ทุกวัน ตามวันทำการของการประมง
 
ให้โจบังโมโนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
  • ป้าย “โจบังโมโน” ที่ Shuen-teru ร้านอาหารและบาร์ ในเมืองอิวากิ
หลายปีที่ผ่านมานี้ ต้องขอบคุณการทำงานอย่างหนัก ความร่วมมือของรัฐบาลและชาวประมงของฟุกุชิมะในที่สุดอาหารทะเลของฟุกุชิมะก็หาทางกลับเข้าสู่ชีวิต (และอาหาร) ของคนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐและสมาคมการประมง เผยแพร่ผลการทดสอบของพวกเขา เช่น สถาบันวิจัยทรัพยากรประมง จังหวัดฟุกุชิมะ มีการเชิญนักเรียนในพื้นที่ องค์กรชุมชน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมสัมมนา และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับรังสีสู่สาธารณะ ความพยายามมากมายเหล่านี้ กำลังทำให้ความเชื่อมั่นในโจบังโมโนของผู้คนกลับคืนมาอีกครั้ง
  • เมนูจากโจบังโมโน
ในปี 2017 กรมวิชาการเกษตร ป่าไม้ และผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของเมืองอิวากิ ได้จัดตั้งเว็บไซต์ "Joban-mono" เพื่อแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับภูมิภาคและปลาในท้องถิ่น สูตรอาหารยอดนิยม เคล็ดลับการทำอาหาร และอาหารโจบังโมโนทุกประเภท นอกจากนี้ยังกำหนดให้วันที่ 7 ของทุกเดือน เป็น “วันปลา” (魚の日) โดยได้รับการส่งเสริมและความร่วมมือจากตลาดปลา ร้านอาหาร บาร์ และร้านขายของกระจุกกระจิกในท้องถิ่น เมื่อทีม Japankuru ไปเยี่ยมเมืองอิวากิ เราแวะที่ Shuen-teru ซึ่งเป็นบาร์และร้านอาหารในบรรยากาศสบาย ๆ และที่นี่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตด้วยเช่นกัน ― ป้ายเล็ก ๆ 2 อัน ตั้งอยู่บนชั้น พร้อมกับข้อความ “โจบังโมโน” และ “วันปลา” 
  • ตลาดปลาโอคาวะ อุเท็น ย่านโยสึคุระ เมืองอิวากิ ตั้งอยู่ใกล้ทะเล
ถ้าพูดถึงตลาดปลาที่ดังเรื่องโจบังโมโน ต้องเป็น ตลาดปลาโอคาวะ อุเท็น (Ookawa Uten) ในเมืองอิวากิ เพราะที่นี่ไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมในหมู่คนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังมีมาตั้งแต่ยุคเมจิ (ค.ศ. 1868-1912)) ร้านขายปลาและอาหารทะเลที่จับได้สด ๆ รวมถึงอาหารพร้อมทาน เช่น  "อูนิโนะไคยากิ" (ウニの貝焼きไข่หอยเม่นในเปลือกหอย) และ "คัทสึโอะโนะวารายากิ" (カツオの藁焼きปลาทูน่าย่างฟาง ) อาหารเหล่านี้เป็นเมนูเด็ดประจำภูมิภาค ในช่วงเทศกาลหรือมีอีเวนท์ เราจะเห็นพนักงานมาย่างให้ดูกันที่หน้าร้านแบบสดๆ
  • ปลาทูน่าย่างฟาง ควันหอมๆ ชวนให้น้ำลายไหล
  • อูนิในเปลือกหอย เมนูดังของอิวากิ
ในการเดินทางครั้งนี้ เราได้เห็นผู้คนซื้อ ทำอาหาร และรับประทานอาหารทะเลท้องถิ่นหลากหลายชนิด ในขณะที่เราเดินผ่านตลาดปลาทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โรงแรม ร้านอาหาร ทั่วทั้งอิวากิและโซมะ ทีม Japankuru สามารถบอกได้ว่าโจบังโมโนนั้นกลับมาพบเห็นได้ตามสถานที่ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านในฟุกุชิมะอีกครั้ง สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักของชาวประมงในฟุกุชิมะและจังหวัดฟุกุชิมะตลอดระยะเวลาเกือบสิบปี
  • พ่อค้ากำลังเตรียมปลาทูน่าที่ตลาดปลาโอคาวะ อุเท็น
  • การประมูลปลาที่ตลาดปลาโซมะ ฮารากามะ
บทความครั้งนี้เรามุ่งเน้นไปที่ระบบการทดสอบที่ใช้ในการตรวจสอบระดับรังสี ในผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของฟุกุชิมะ ครั้งหน้าเราจะมาดูเพิ่มเติมที่ สถาบันวิจัยทรัพยากรประมง และงานวิจัยที่เกี่ยวกับน่านน้ำในมหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตในทะเลของฟุกุชิมะ เตรียมติดตามข้อมูลเชิงลึก พร้อมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆอีกมากมาย 
 
ติดตามข้อมูลข่าวสารส่งตรงจากญี่ปุ่นจาก Japankuru (เจแปนคุรุ) ได้ทาง Facebook และ Twitter ได้ทุกวัน
Comment
POST
Related Article
ถาม-ตอบ
  • PARTNERS