ชมดอกฮิกังบานะกว่า 5 ล้านดอกที่สวนคินชาคุดะ จ.ไซตามะ อีกหนึ่งสีแดงที่ไม่ควรพลาดในฤดูใบไม้ร่วง

Kanto Tour ไซตามะ 2023.09.25
ดอกฮิกังบานะหรือมันจูชาเกะ ดอกไม้สีแดงรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ที่มาพร้อมกลิ่นอายแห่งความลึกลับ บทความนี้จะมาเล่าถึงดอกไม้ชนิดนี้พร้อมแนะนำเทศกาลคินชาคุดะ มันจูชาเกะ เทศกาลที่ทั่วทั้งพื้นที่ย้อมเป็นสีแดงฉานด้วยดอกฮิกังบานะกว่า 5 ล้านดอก
  • หลาย ๆ คนคงจะคุ้นเคยกับดอกไม้สีแดงสดที่ชื่อว่าดอกฮิกังบานะ (Higanbana : ヒガンバナ) จากในละคร นิยาย หรือในอนิเมะญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นยังนิยมเรียกดอกไม้ชนิดนี้ด้วยชื่ออื่น ๆ อีกด้วย เช่น ดอกมันจูชาเกะ (Manjusage : 曼珠沙華) หรือ ดอก Lycoris (リコリス) มีชื่อในภาษาอังกฤษคือ Spider lily
ที่มาของชื่อฮิกังบานะ
ชื่อ “ฮิกังบานะ” แปลว่าดอกไม้ที่บานในช่วงฮิกัง โดย “ฮิกัง (彼岸)” เป็นคำที่มีที่มาจากความเชื่อในศาสนาพุทธ หมายถึงช่วงวันที่พระอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ส่งผลให้ในวันฮิกังมีเวลากลางวันกับกลางคืนเท่ากันพอดี โดยปีหนึ่งจะมี 2 ครั้ง คือช่วงเปลี่ยนเข้าฤดูใบไม้ผลิ (ประมาณปลายเดือนมีนาคม) และช่วงเปลี่ยนเข้าฤดูใบไม้ร่วง (ประมาณปลายเดือนกันยายน) ตามความเชื่อของศาสนาพุทธ ตามความเชื่อว่ากันว่าเมื่อเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน วิญญาณจะสามารถข้ามผ่านเขตแดนระหว่างโลกกับนิพพาน ทำให้ช่วงฮิกังเป็นช่วงของการไปเยี่ยมหลุมศพบรรพบุรุษ
  • จริง ๆ แล้วดอกฮิกังบานะเป็นสายพันธุ์ที่มีหลายสี ความหมายในภาษาดอกไม้ก็แตกต่างกันไปตามสีของดอกไม้ แต่สีที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปมากที่สุดก็คือสีแดงและมักมาพร้อมอิมเมจที่น่ากลัวและไม่เป็นมงคล
ทำไมอิมเมจของดอกฮิกังบานะถึงดูไม่เป็นมงคล
  • ถ้าจะให้พูดโดยสรุปก็เป็นเพราะดอกฮิกังบานะเป็นดอกไม้ที่มีพิษรุนแรงจนมีคำกล่าวว่า “กินแล้วได้ไปปรโลก (โลกหลังความตาย)” จนถึงกับขนานนามว่าเป็นดอกไม้คนตาย (死人花) หรือ ดอกไม้แห่งยมโลก (地獄花)

    ด้วยความที่มีพิษแรงทำให้คนโบราณนิยมนำดอกไม้ชนิดนี้ไปปลูกรอบ ๆ หลุมฝั่งศพเพื่อป้องกันหนูหรือตัวตุ่นไม่ให้เข้ามาใกล้ ส่งผลให้เกิดภาพจำของสุสานที่เต็มไปด้วยดอกฮิกังบานะ

    ในสมัยโบราณยังมีคำกล่าวที่ว่าหากนำดอกฮิกังบานะกลับบ้านจะเกิดไฟไหม้, หากจับดอกฮิกังบานะจะมีคนตายหรือมือจะเน่า ซึ่งจริง ๆ แล้วคำบอกเล่าเหล่านี้ก็น่าจะเป็นกุศโลบายที่กันไม่ให้เด็ก ๆ ไปยุ่งกับดอกฮิกังบานะนั่นเอง
  • นอกจากนี้ดอกฮิกังบานะยังมีลักษณะพิเศษที่ต่างจากดอกไม้อื่น ๆ คือจะเริ่มบานจากดอก เมื่อดอกโรยใบถึงจะงอก พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นดอกไม้ที่ไม่เห็นดอกและใบพร้อมกัน ซึ่งคนโบราณมองลักษณะที่แปลก ๆ ของดอกไม้ชนิดนี้ในแง่ลบ ทำให้อิมเมจดูลี้ลับและไม่น่าไว้ใจมากขึ้น 
เทศกาลคินชาคุดะ มันจูชาเกะ ชมสวนดอกฮิกังบานะกว่า 5 ล้านดอกไม่ใกล้จากโตเกียว
แม้ในอดีตจะเป็นดอกไม้ที่มีอิมเมจในแง่ลบ แต่ปัจจุบันดอกฮิกังบานะก็ได้รับความนิยมในฐานะดอกไม้ที่มีสีสวยและมีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ ภาพลักษณ์ที่ดูลึกลับน่ากลัวก็เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้คนที่เคยเห็นดอกไม้ชนิดนี้จากสื่อต่าง ๆ สนใจอยากเห็นของจริง 

ในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปีที่สวนคินชาคุดะ ในเมืองฮิดากะ จ.ไซตามะ จะมีการจัดงานเทศกาลคินชาคุดะ มันจูชาเกะ (巾着田曼珠沙華まつり) โดยในปี 2023 มีกำหนดจัดในช่วงวันที่ 16 กันยายนถึง 1 ตุลาคม
เป็นงานเทศกาลซึ่งจัดในช่วงที่ดอกมันจูชาเกะ (ดอกฮิกังบานะ) กว่า 5 ล้านดอกเบ่งบาน ย้อมพื้นที่กว่า 3.4 เฮกเตอร์ให้เป็นสีแดงสดสวยงาม เป็นสวนดอกมันจูชาเกะที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น นอกจากความสวยงามของดอกไม้แล้วยังมีซุ้มขายอาหารและกิจกรรมการแสดงบนเวทีให้ได้ชมอีกด้วย 

สามารถเช็คสถานะการบานของดอกไม้ได้ที่ Official Facebook Page 
ค่าเข้าชม (เก็บค่าเข้าสวนเฉพาะช่วงเทศกาลดอกมันชูชาเกะ)
ผู้ใหญ่ 500 เยน เด็กมัธยมต้นลงไปเข้าชมฟรี
เวลาเข้าชม ตั้งแต่ 7.00 - 17.00 น. (เข้ารอบสุดท้าย 16.30 น.)

การเดินทาง
 -เดินจากสถานี Koma สาย Seibu Ikebukuro ประมาณ 15 นาที
 -ลงรถไฟที่สถานี JR Komagawa แล้วต่อรถบัส Kokusai Komagawa ที่มุ่งหน้าไปยังสถานี Hanno มาลงที่ป้าย Kinchakuda จากนั้นเดินต่ออีกประมาณ 3 นาที
 -นั่งรถไฟสาย Seibu Ikebukuro มาลงที่สถานี Hanno แล้วต่อรถบัส Kokusai Kogyo ที่วิ่งไปสถานี Komagawa มาลงที่ ป้าย Kinchakuda แล้วเดินต่อประมาณ 3 นาที

ติดตามเรื่องราว ข้อมูล และข่าวสารส่งตรงจากญี่ปุ่นกับ Japankuru ได้ทาง Twitter และ Facebook!
Comment
POST
  • Wonderful Article!
    tstoto
    tstoto
    tstoto
    tstoto
    2024.01.04 reply
Related Article
ถาม-ตอบ
  • PARTNERS