[ปลาโจบัง-โมโน คืออะไรกันนะ?] พาร์ท 4 ชีวิตชาวประมง, อาหารทะเล, และความปลอดภัย

Tohoku Tour Jobanmono 2020.11.13
การตกปลา ชีวิตทางทะเล เป็นวัฒนธรรมที่เติมสีสันให้กับเมืองอิวากิ จ.ฟุกุชิมะ

ปลาที่อิวากิ

เมืองอิวากิ มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ตั้งแต่ไดโนเสาร์ เหมืองถ่านหิน ฮูล่าแดนซ์ และกระแสน้ำอุ่นและเย็นในบริเวณอ่าวของฟุกิชิมะ ชีวิตของคนในเมืองอิวากิจึงมีความเกี่ยวโยงกับท้องทะเล ธุรกิจหลักของของที่นี่จึงหนีไม่พ้นการประมง หรือที่เรียกว่า โจบังโมโน ผู้คนที่นี่จึงได้รับประทานอาหารทะเลที่สดใหม่ทุกวัน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ ในบริเวณโทโฮคุ เมือเดือนมีนาคม 2011 ชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนไป มีการทดสอบความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ แต่ความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับทะเลก็ไม่เคยหายไป

หากคุณกำลังสงสัยเกี่ยวกับการประมงท้องถิ่นว่าเป็นอย่างไร เขาจับปลากันอย่างไร มีการเตรียมตัวอย่างไรก่อนที่จะลงเรือ ต้องไปที่ Aquamarine Fukushima ซึ่งก่อนที่จะดำดิ่งไปยังใต้ท้องเทะเลลึกของอิวากิ Japankuru ก็ได้แวะไปที่อควาเรียม เพื่อดูชีวิตของสัตว์โลกใต้ท้องทะเล
  • Aquamarine Fukushima

Aquamarine Fukushima มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้กับผู้เข้าชมเกี่ยวกับ “ท้องทะเลและอนาคตของโลก” โดยการสร้างสิ่งแวดล้อมธรรมชาติขึ้นมาบนพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยเป็นการสร้างเพื่ออุทิศให้กับสิ่งมีชีวิตและท้องทะเลของฟุกุชิมะ นอกเหนือจากตู้ปลาเล็กๆ และข้อมูลของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในบริเวณนี้แล้ว ยังมีอุโมงค์รูปตัว V คว่ำ ที่แสดงถึงการพบกันของกระแสน้ำโอยาชิโอะและกระแสน้ำคุโรชิโอะ เมื่อเดินผ่านตู้ปลาขนาดใหญ่ ก็จะอยู่ในจุดที่แสดงให้เห็นถึง จุด “ชิโอเมะ” และตู้ปลาทั้งสองด้านก็แสดงถึงความแตกต่างของใต้ท้องทะเล ระหว่างกระแสน้ำคุโรชิโอะกับกระแสน้ำโอยาชิโอะ ที่เป็นส่วนหนึ่งของถิ่นที่อยู่ของสัตว์น้ำในอิวากิจริงๆ
  • ทางเดินบริเวณจุดชิโอเมะ

ท่าเรือประมงฟุกุชิมะ

ความสนุกที่อิวากิไม่ได้มีแค่อควาเรียมเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจการประมง ตามชายฝั่งของจังหวัดฟุกุชิมะ ที่สำคัญต่อชีวิตของชาวบ้าน สร้างอาชีพและจัดส่งอาหารทะเลไปทั่วญี่ปุ่น อาหารทะเลของภูมิภาคนี้เรียกว่า โจบังโมโน เป็นสัญลักษณ์ของอาหารทะเลคุณภาพสูง ที่จำหน่ายในตลาดปลาโทโยสุ (เดิมคือตลาดปลาสึกิจิ) และเป็นที่ชื่นชอบของเชฟและคนรักการทำอาหารในญี่ปุ่นมานานหลายสิบปี และยังเป็นแหล่งน้ำที่มีความน่าเชื่อถือและอุดมสมบูรณ์

แต่ในปี 2011 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ทำให้ฟุกุชิมะเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอุตสาหกรรมประมง หลังจากที่ทีม Japankuru ได้รู้ถึงชื่อเสียงของโจบังโมโน เราจึงตัดสินใจที่จะเดินทางไปยังตลาดปลาและศูนย์ตรวจสอบหลายแห่ง เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการตรวจสอบความปลอดภัยและการปฏิบัติจริง รวมถึงได้เรียนรู้ว่าทำไมอิวากิถึงมีความภาคภูมิใจในอุตสาหกรรมประมง
  • สภาพหลังเกิดภัยพิบัติที่ฟุกุชิมะ

คนส่วนใหญ่นั้นทราบเกี่ยวกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2011 ว่าเป็นเหตุการณ์ที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก และก่อให้เกิดความเสียหายตามมา รวมถึงชื่อของฟุกุชิมะก็ได้ถูกพูดถึงพร้อมกับน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความกังวัลจากทั่วโลก นอกจากนั้นภัยพิบัติในครั้งนี้ยังทิ้งสารกัมมันตภาพรังสี ที่หลายคนกังวลเกี่ยวกับอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้นหรือไม่ แม้กระทั่งในปัจจุบัน เหตุการณ์นี้ก็ยังทำให้ผู้คนบางส่วนทั้งที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นและต่างประเทศมีความกังวล เมื่อได้ยินชื่อของฟุกุชิมะ 

สิ่งที่คนทั่วไปโดยเฉพาะพื้นที่ที่ห่างไกลจากอิวากิไม่รู้ก็คือ ชาวบ้านทำงานกันอย่างหนักเพื่อฟื้นฟูการเกษตรในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมประมง ที่มีการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เนื่องจากพื้นที่อันกว้างใหญ่ของทะเลเปิด ศูนย์วิจัยทางทะเลในฟุกุชิมะ มีหลักฐานมากมายที่แสดงถึงระดับรังสีที่ท่าเรือประมงและพื้นที่ตกปลาของฟุกุชิมะลดลงเป็นอย่างมาก แต่อิวากิก็ยังถูกมองว่าไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบน้ำทะเล พื้นทะเล ตรวจสอบค่าของรังสีจากปลาทุกชนิดที่จับได้ในบริเวณนั้นทุกวัน เพราะพวกเขาต้องการให้ผู้เห็นตัวเลขที่แสดงถึงความปลอดภัย
 

สิ่งที่เกิดขึ้นทุกๆวันที่ตลาดปลาในอิวากิ

  • ตลาดปลานูมาโนะอุจิ

ชาวประมงออกหาปลาโดยเรือประมงขนาดเล็กกันตั้งแต่เช้ามืด บ้างก็จับโดยการใช้อวนลาก บ้างก็ใช้อวนติดตา และนำกลับมาที่ท่าเรือให้ทันเวลาการคัดแยก และขายกันแต่เช้าตรู่ ที่ตลาดปลานูมาโนะอุจิ เริ่มขายปลากันตั้งแต่ 8:30น. ผู้ประมูลก็จะเขียนราคาไว้บนกระดาษ และโยนไว้บนกล่องที่ใส่ปลาไว้
  • ช่วงเวลาการซื้อขายปลา

  • เลือกปลาเพื่อนำไปทดสอบ

แม้ว่าอุตสาหกรรมประมงกำลังฟื้นฟู ได้ประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณก่อนเกิดแผ่นดินไหว แต่อาหารทะเลก็ยังถูกกองไว้ทุกเช้า ทั้งปลาขายดีไปจนถึงปลาหายาก ชาวประมงได้บอกกับเราว่า ปลาคัตสึโอะมีปริมาณลดลงจากน้ำที่อุ่นขึ้น แต่เราก็แอบห็นว่ามีปลาที่มีลวดลายแปลกๆ ปลาตัวเล็กเต็มถัง ปลาลิ้นหมา และขาของกุ้งล็อบสเตอร์ที่โผล่ออกมาจากถัง

ก่อนที่ปลาจะถูกขายออกไปได้นั้น ต้องมีการตรวจสอบถึงความปลอดภัย เมืองอิวากิมีตลาดปลามากกว่าหนึ่งแห่ง และมีศูนย์ทดสอบความอยู่ที่ตลาดปลาโอนะฮามะ ที่อยู่ทางใต้ของนูมาโนะอุจิ เรือที่ออกไปจับปลาในแต่ละวันนั้นจะจับปลามาได้แตกต่างกันไป ตลาดปลาจึงต้องมีการติดต่อกันเป็นอันดับแรก เพื่อให้มั่นใจว่าศูนย์ทดสอบนั้นได้ทำการตรวจสอบทุกสายพันธุ์ที่นำเข้ามายังท่าเรือในแต่ละวัน แม้ว่าจะเป็นปลาหายากที่จับมาได้เพียงตัวเดียว ปลาตัวนั้นก็ต้องถูกส่งไปตรวจสอบความปลอดภัย แทนที่จะนำไปขาย ไม่ว่าระดับรังสีในปัจจุบันจะมีตัวเลขที่ต่ำ แต่หากพบเจอตัวเลขที่สูงกว่าปกติเล็กน้อย ก็ต้องมีการเรียกคืนและตรวจสอบอย่างละเอียดโดยนักวิจัยในทันที
  • ตลาดปลาโอนะฮามะ

เมื่อถึงจุดสิ้นสุดของวัน ทั้งชาวประมงและพ่อค้าขายปลาต่างก็ดูเหนื่อยล้า แต่เมื่อเราเข้าไปถามถึงงาน พวกเขาก็กระฉับกระเฉงขึ้นมาทันที คุณ Mitsunori Suzuki รองประธานสมาคมสหกรณ์การประมงอิวากิ ชายผู้ซึ่งใช้เวลาในช่วงกลางวันอยู่ในทะเลกล่าวว่า “ตลาดปลาที่โตเกียวมักจะพูดเสมอว่า คุณภาพของปลาและความสดของโจบังโมโนนั้นยอดเยี่ยม โดยเฉพาะปลาไหลอะนาโกะ, ปลาตาเดียว และปลาคัตสึโอะ(ปลาโอ)” และยังบอกอีกว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่โทโฮคุเมื่อปี 2011 มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป และได้รับผลกระทบโดยตรงหลังจากภัยพิบัติ เขาได้เสริมว่า “ในปัจจุบันเราได้เฝ้าระวังปลาทุกตัวอย่างระมัดระวัง และคิดว่าคุณคงไม่สามารถเจออาหารทะเลที่ไหนที่ปลอดภัยได้มากกว่านี้อีกแล้ว เพราะในจังหวัดอื่นไม่มีการทดสอบอย่างจริงจังแบบนี้” นอกเหนือจากการทดสอบทางรังสีแล้ว คุณ Suzuki ได้อธิบายเพิ่มว่า สมาคมประมงในพื้นที่นั้นมีการตกลงว่าจะใช้เวลานี้ เป็นโอกาสในการปรับปรุงการปฏิบัติงานทุกประเภท และทำให้การประมงในพื้นที่นั้นเป็นประมงแบบยั่งยืน ในอนาคตพวกเขามีเป้าหมายที่จะรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆกับธุรกิจที่เติบโตขึ้น “เราคิดว่าปลาของเราเป็นปลาที่มีคุณภาพ เราทำงานอย่างหนัก เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและปลอดภัยก่อนจะนำออกไปสู่สาธารณะ” พร้อมกับกล่าวทิ้งท้ายว่า “ลองชิมปลาจากฟุกุชิมะดูสิ!"
  • เตรียมการสำหรับการทดสอบ

อาหารอิวากิ

  • อาหารโจบังโมโน ที่ร้าน Shuen Teru

หลังจากได้เรียนรู้เกี่ยวกับโจบังโมโนมาทั้งวัน ทีม Japankuru ก็ได้เดินทางไปยังร้านอิซากายะเล็กๆ “Shuen Teru” ที่เสริฟเมนูอาหารทะเลจากอิวากิ และสาเกที่ผลิตในฟุกุชิมะ ในวันนี้เราได้เลือกเป็นเมนูโอมากาเสะ ซึ่งเป็นอาหารที่เชฟจะทำมาให้เราเอง และได้ชิมหลากหลายเมนู ทั้งซาชิมิปลาตาเดียวสไลด์บาง เสริฟมาพร้อมกับมะนาวซุดาจิ โชยุที่หอมกลิ่นดอกเบญจมาศ กลีบดอกชิโสะ และมิโสะที่ไว้รับประทานกับปลามาโทได ปลาเมฮิคาริหรือปลาตาเขียว เรียกได้ว่าเป็น ปลา official fish หรือปลาขึ้นชื่อของอิวากิ สามารถนำมาทำอาหารได้หลายอย่าง ทอดทั้งตัว แดดเดียว ที่จะได้รสชาติอุมามิเต็มๆ และจะอร่อยมากยิ่งขึ้นเมื่อเสริฟเป็นโอฉะสึเกะ (ข้าวราดน้ำชา) ปลาไหลอะนาโกะต้ม ที่ต้มจนได้น้ำซุปที่มีความหอมหวานจากเนื้อปลา และจานสุดท้ายหนังปลามังค์ฟิช เมนูแปลกใหม่สำหรับพวกเรา วันนี้เป็นการรับประทานอาหารอิวากิที่สนุกจริงๆ

ซาชิมิปลาตาเดียว

  • ปลาเมฮิคาริแดดเดียว

Ocean View

  • ยามพระอาทิตย์ตกดิน

จากการที่มีแนวชายฝั่งที่ยาวของอิวากิ ทำให้เมืองต้องเจอกับความยากลำบาก แต่ก็ยังมีธุรกิจชุมชน อาหารอร่อย และธรรมชาติที่สวยงาม ชาวประมงที่ได้ออกไปจับปลาและกลับมาพร้อมกับปลาเต็มลำ เพื่อนำมาขายที่ตลาด และเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำการทดสอบตัวอย่าง ทำชาร์ตข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้แน่ใจว่าปลาสามารถกินได้อย่างปลอดภัย ทำให้เราเห็นได้ชัดว่าประชาชนชาวเมืองอิวากิ กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้ยังคงอยู่ และแบ่งปันความรักของพวกเขาที่มีต่อโจบังโมโนกับทุกคนที่สามารถทำได้

สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารทะเลจากจังหวัดฟุกุชิมะนั้นยังไม่จบ เรายังมีเรื่องราวเกี่ยวกับทะเลของฟุกุชิมะและอาหารทะเลที่จะมาเล่าให้ทุกคนฟังอีกเร็วๆนี้ ติดตามเรื่องราวและข้อมูลจากญี่ปุ่นได้ทาง facebook
Comment
POST
Related Article
ถาม-ตอบ
  • PARTNERS